ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 369 view

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้แทนอธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ นายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย โดยผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ มีดังต่อไปนี้

สาขาการแพทย์ ได้แก่
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo, M.D.) จากสหรัฐอเมริกา

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่
นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี (Douglas R. Lowy, M.D.) จากสหรัฐอเมริกา
ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ (John T. Schiller, Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ (Ian H. Frazer, MB.ChB, M.D.) จากสหราชอาณาจักร/ออสเตรเลีย

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ ได้ศึกษากลไกการเกิดโรคเบาหวานและพิสูจน์ได้ว่าโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ เสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยพิจารณาเลือกยาตามกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนักเพื่อทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ซึ่งแนวคิดและผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการนำไปใช้ในการศึกษาต่อยอด และเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ อย่างแพร่หลาย และทำให้มีจำนวนผู้ป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลงทั่วโลก

นายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี และ ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (human papillomavirus) สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งอนุภาคคล้ายไวรัสนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี ขณะเดียวกันศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ ก็ได้ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง

ผลงานของนายแพทย์ดักลาส อาร์ โลวี ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ และศาสตราจารย์นายแพทย์เอียน เอช เฟรเซอร์ เป็นงานต่อยอดของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๔๘ และรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ประจำปี ๒๕๕๑ ซึ่งค้นพบเชื้อฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (เอชพีวี) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสและลดการเสียชีวิตได้จำนวนมากมายทั่วโลก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ